วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ผักกูด...ผักพื้นบ้าน...หวานกรอบ...ปลอดสารเคมี 100%

ผักกูด...ผักพื้นบ้าน...หวานกรอบ...ปลอดสารเคมีที่เป็นอันตราย

เมื่อเราชอบกินผัก  ดังนั้นเราก็สรรหาผักมาปลูก ความสุขก็อยู่ตรงนี้ละคะ เลือกผักที่ชอบทาน มาปลูก  แล้วเราก็กินสิ่งเราปลูก มีรัยเราก็ปลูกไปเรื่อย ๆ เราก็มีผักกินทั้งปี ช่วงไหนประชาชนโอดครวญว่าผักแพง หากเรามีผักเหลือขาย เราก็ดี หากไม่เหลือเผื่อขาย พอกินในบ้านไม่ต้องซื้อของแพง ๆ ก็ดี สรุปคือดีต่อใจปลอดภัยสารพิษ

12 มิถุนายน 2563

ซื้อต้นพันธุ์ผักกูด  300 ต้น และผักหนาม 300 ต้น


ผักพื้นบ้าน...โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยชอบกินผัก 2 ชนิดนี้เท่าไร แต่มองดูแล้วเป็นผักที่ยังเป็นที่นิยม ในกลุ่มคนที่ชอบผักพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษ เนื่องจากพืช 2 ชนิดนี้ไม่ทนต่อสารเคมี ได้รับเพียงเล็กน้อยก็แห้งเฉาตายได้อย่างรวดเร็ว  ที่สำคัญ ผัก 2 ชนิดนี้ ไม่ใช่พืชล้มลุก ไม่ต้องปลูกบ่อย ๆ ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นานหลายปี ขยายพันธ์ง่าย ดูแลไม่ยาก เพียงแต่ใช้น้ำเยอะหน่อย 

ใช้น้ำเยอะ  ตรงนี้แหละ เกรงจะเกิดปัญหาช่วงหน้าแล้งเหมือนกัน เพราะบ้านเราแล้ง โหดร้ายมาก แม้ว่าจะมีน้ำบาดาลมาช่วย ก็ไม่เต็มที่และมีปัญหาเรื่องตะกอนตกค้างจากน้ำบาดาลที่พืชไม่ชอบ ก็ต้องวัดดวงกันดู...

          เช่นเคยคะ...เมื่อเราปลูกสิ่งที่ไม่เคยทำ เราก็ต้องหาข้อมูลไว้เป็นความรู้  บันทึกเอาไว้เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่ต้องไปค้นคว้า  โลกปัจจุบันง่ายมาก สมัยโน้น  ต้องไปนั่งห้องสมุด หางานเขียนมากองเป็นตั้ง ๆ เปิดอ่าน เล่มไหนข้อมูลตรงกับที่เราต้องการก็ยืมมานั่งอ่านๆ และถ่ายเอกสารเก็บไว้เปิดดูภายหลัง  เดี๋ยวนี้  สามารถนำมาบันทึกเก็บไว้เลย  แต่ก็ต้องดูที่เขาอนุญาตนะ ไม่ติด ลิขสิทธิ์ และให้เครดิทเจ้าของข้อมูลเขาด้วย

ข้อมูลนี้มาจาก https://decor.mthai.com/garden  ขออนุญาตผู้เขียนเก็บข้อมูลเพื่อการเรียนรู้นะคะ

ผักกูด ผักพื้นบ้าน สารพัดประโยชน์ ธรรมชาติของต้นผักกูด จะเติบโตได้ดี ก็ด้วยดินในพื้นที่แปลงปลูกจะต้องไม่มีสารเคมีใดๆ ตกค้าง เพราะจะมีผลทำให้ต้นผักกูดแคระแกร็นไม่แตกยอด หรือไม่ก็ตายไปเลย โดยมากผักกูดจะเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้ตามตามริมน้ำหรือลำธารที่เป็นแหล่งธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะเป็นผักต้องการความชื้นสูง สภาพดินจะต้องอุ้มน้ำชื้นแฉะ แต่ไม่ท่วมขัง แสงแดดส่องรำไร ผักกูดถึงจะแตกยอด อ่อนได้ดี หากโดนแสงจัดจ้า ใบจะแห้งกรอบ และตายในไม่ช้า

วิธีปลูกผักกูด ในรั้วบ้าน สามารถนำมาปลูกใส่กระถางหรือลงดินโดยตรงก็ได้


ถ้าเป็นผักกูดต้นเล็กที่ได้มาจากการเจริญเติบโตจากซอไร หรือสปอร์ ควรปลูกไว้ในกระถางดีกว่าเพราะสามารถดูแลเอาใจใส่ได้ง่ายเนื่องจากเจริญเติบโตค่อนข้างช้ากว่าการนำเอาผักกูดต้นใหญ่มาแยกกอ ส่วนผักกูดต้นใหญ่การปลูกควรนำมาแยกให้เป็นกอเล็กๆแล้วค่อยนำไปปลูกในดินโดยตรงหรือปลูกไว้ในกระถางผักกูดต้นใหญ่มีการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็วให้ฟรอนด์ สำหรับนำไปปรุงอาหารได้ไวกว่าผักกูดที่เจริญมาจากซอไร

หลังจากเก็บผักกูดมาจากธรรมชาติแล้ว ให้คัดแยกต้นใหญ่และต้นเล็กโดยผักกูดต้นใหญ่หรือกอใหญ่ให้แยกกอ เป็นกอละหนึ่งฟรอนด์ก็พอ แล้วค่อยนำไปปลูกในสถานที่ปลูกที่มีความชุ่มชื้น มีแดดร่มรำไร เนื่องจากผักกูดชอบน้ำและที่อากาศเย็น อาจปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่หรือมีการพรางแสงให้อากาศเย็นทำให้ผักกูดสามารถเจริญเติบโตได้ดี

1.การปลูกในกระถาง ให้ใช้กระถางซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 7 นิ้วขึ้นไปเพราะถ้าผักกูดโตเต็มที่จะมีใบมีขนาดใหญ่และยาว แล้วใส่ดินปลูกลงไปประมาณสามส่วนของกระถาง ใส่ปุ๋ยชีวภาพ (หรือปุ๋ยคอก) ลงไปเล็กน้อย (ประมาณ 1 กำมือ) แล้วนำผักกูดลงปลูกและกลบดินในกระถาง รดน้ำให้ชุ่มและคอยรดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ(ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกใส่ทีละน้อยและใส่ได้บ่อย)

2.การปลูกลงดิน ให้เตรียมหลุมปลูกตามขนาดของต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกเล็กน้อย (ประมาณ 1 กำมือ) นำผักกูดลงปลูก กลบดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นคอยดูแลเรื่องน้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากต้นผักกูดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะชุ่มชื้น มีแดดร่มรำไร ดังนั้นเพื่อเป็นการเบาแดดและเก็บความชุ่มชื้นให้ต้นผักกูดจึงมี 2 วิธีการปลูกลงดินมาแนะนำเพิ่มเติมดังนี้

2.1 ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น โดยพืชที่เข้ากันได้ดีคือต้นกล้วย เนื่องจากรากกล้วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดินได้ดี และใบกล้วยยังช่วยพรางแสงให้กับผักกูด แต่ควรเสริมระบบให้น้ำด้วยสปริงเกอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น


2.2 ปลูกใต้สแลน กรองแสง 60–80% ควบคู่กับการตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำเพิ่มความชุ่มชื้น โดยทำหลังคาสแลนสูง 1.5-2 เมตร หลังจากยกร่องแปลงปลูกให้มีพื้นที่ว่างระหว่างร่อง 1.5 เมตรเสร็จแล้ว ให้หว่านมูลสัตว์ปรับหน้าดิน ลงต้นพันธุ์ (แขนง) ความห่างระหว่างกอ 50×50 ซม. ช่วง 1 เดือนแรกให้น้ำทุก 3-4 ชม. พร้อมคอยสำรวจเก็บวัชพืชที่อาจติดมากับมูลสัตว์ออกไปให้หมดเพื่อจะได้ไม่ไปแย่งอาหาร และเพราะผักกูดเป็นพืชมีเมือก ทำให้ไม่มีแมลงมากัดกินดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีปราบแมลงศัตรูพืช และทุกๆ 3 เดือน ให้เติมปุ๋ยระหว่างกอต้นผักกูด จุดละครึ่งกิโลกรัม และปล่อยน้ำให้ชุ่มชื้น ใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 6 เดือน จะเริ่มเก็บยอดได้ ขณะตัดยอดให้ตัดแต่งใบแก่ออกไปด้วย เพราะถ้าไม่ตัดออกจะทำให้ยอดใหม่แตกช้าและมีขนาดเล็ก

 ผักหนาม 

ผักหนาม หรือกะลี ชื่อวิทยาศาสตร์: Lasia spinosa เป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์ Araceae มันเป็นพืชที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินโดยมีหนามเกาะอยู่เต็มลำต้น ใบเดี่ยว ผิวใบด้านล่างและก้านใบมีหนาม ดอกช่อมีกาบหุ้มช่อดอกขนาดใหญ่รองรับช่อดอก สีเหลือง ดอกย่อยจำนวนมาก ผลมีเมล็ดเดียว พบทั่วไปบริเวณริมน้ำหรือพื้นที่ชื้น ... วิกิพีเดีย

ผักหนาม ผักพื้นบ้าน 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

             ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อย ทอดขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง มีหนามแหลมตามลำต้น ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวลูกศร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก รอยเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบกว้างมากกว่า 25 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร มีหนามตามเส้นใบด้านล่าง ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าลึก 9 พู ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว แข็ง ยาว 40-120 เซนติเมตร มีหนามแหลมตามก้านใบและเส้นกลางใบ ดอกออกเป็นช่อเชิงลด ทรงกระบอก เป็นแท่งยาวเท่าๆกับใบ ประมาณ 4 เซนติเมตร แทงออกมาจากกาบใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตรและมีหนาม มีดอกย่อยอัดกันแน่นเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลแกมเขียวถึงสีม่วง กาบหุ้มม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ ยาวได้ถึง 55 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อดอกแบบแท่งสแพดิก (spadix) ช่อดอกสีน้ำตาล ดอกตัวผู้อยู่ตอนบนและมีจำนวนมาก ดอกตัวเมียอยู่ตอนล่างและมีจำนวนน้อยกว่า ผลเรียงชิดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก ผลสด หนาและเหนียว ผลอ่อนสีเขียวมีเนื้อนุ่ม ผลแก่สีเหลืองแกมแดง  ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน และเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พบตามริมคู คลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ลำต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัดเหือด และไข้ออกผื่น สุกใส ดำแดง และใช้ถอนพิษ ใบ แก้ปวดท้อง แก้ไอ ราก ต้มน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ แก้เจ็บคอ รากและใบ ใช้ขับเสมหะ เหง้า เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัด เหือด สุกใส ดำแดง และโรคผิวหนัง ทั้งต้น แก้ปัสสาวะพิการ ยอดอ่อนและใบอ่อนรับประทานเป็นผัก โดยนำมาลวก หรือต้มกับกะทิ หรือทำผักดอง กินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกง แกงส้ม แกงไตปลา หรือผัด 
ผักหนามมีกรดไฮดรอไซยานิคซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนรับประทานเพื่อกำจัดพิษ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น