วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

การปลูกปอเทืองในนาข้าว

ปอเทือง...พืชปรับปรุงบำรุงดิน
      
    วันนี้  อุณหภูมิความร้อนระหว่างวัน ยังคงสูง เมื่อตะวันคล้อยบ่าย แสงแดดเหมือนจะแผดเผาทุกอย่างให้มอดไหม้ อย่างไรก็ตามเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว พอจะมีฝนประพรหมชโลมผืนดินลงมาบ้างให้คลายความร้อน  เราชาวนา-ชาวไร่ ก็เริ่มเตรียมการเพาะปลูก 
       เป็นความโชคดีของเรา ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาป่าเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยโครงการในพระราชดำริเขาชะงุ้ม แจกต้นกล้าหญ้าแฝก และปอเทือง พืชที่ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน จึงได้เดินทางไปขอรับทางศูนย์ฯ มอบให้มา จำนวน 4 กระสอบ และหญ้าแฝก จำนวน 2,000 ต้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูง
       ด้วยความที่ยังไม่เคยปลูกจึงเข้าไปค้นหาข้อมูลเพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางการหว่านปอเทือง ได้ข้อมูลมา  ขอบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อเก็บไว้ศึกษา 
            เริ่มหว่าน วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 เนื้อที่ 10 ไร่
                                          ปอเทืองหว่านในนาข้าว อายุ 1 เดือน

การปลูกปอเทืองในนาข้าว

 ปอเทือง เป็นพืชตระกูลถั่ว ลักษณะเป็นไม้พุ่มความสูง 100–300 เซนติเมตร ลำต้นกลม ใบยาวเรียวแหลม ดอกสีเหลือง ฝักเป็นรูปทรงกระบอก เมล็ดคล้ายรูปไตสีน้ำตาล ความยาว ประมาณ 6 มิลลิเมตร มี 10 -20 เมล็ด/ฝัก ปอเทืองเป็นพืชที่ต้นทุนในการปลูกต่ำและทนแล้ง โดยนอกจากเก็บเมล็ดพันธุ์ขายแล้วยังสามารถไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อใช้ปรับคุณภาพดินได้


วิธีการปลูกปอเทืองในนาข้าว

 

การเตรียมดินและการปลูกปอเทือง มี 2 วิธี คือ



1. ปลูกโดยไม่ต้องเตรียมดิน ซึ่งทำโดยก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว ใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองหว่าน 1–2 วัน แล้วจึงใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว วิธีนี้จะสูญเสียเมล็ดพันธุ์มากจากการกลบของฟางข้าว หรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าวใช้เมล็ดปอเทืองหว่านตามร่องรถเกี่ยวข้าวแล้วกระจายฟางข้าวให้ทั่วแปลง หรือจะเก็บฟางข้าวไว้เลี้ยงสัตว์ก็ได้ วิธีนี้จะได้ใช้พื้นที่มากขึ้น

 2. การปลูกโดยการเตรียมดินทำได้โดยใช้รถไถขณะดินมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดปอเทือง จะคราดกลบหรือไม่ก็ได้ ถ้าคราดกลบจะงอกได้สม่ำเสมอและเจริญเติบโตดี หรือ ปลูกโรยเป็นแถว ระหว่างแถว 80 – 100 เซนติเมตร หรือปลูกเป็นหลุม ใช้ระยะปลูก 50x100 หลุม ๆ ละ 1–3 ต้น โดยอัตราเมล็ดที่ใช้ปลูกแบบหว่านเพื่อไถกลบใช้เมล็ดประมาณ 3 – 5 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกเป็นหลุมใช้เมล็ด 2 – 4 กิโลกรัมต่อไร่

การดูแลรักษา : หลังการหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองแล้วประมาณ 3 –5 วัน จะงอกโดยอาศัยความชื้นที่มีอยู่ในดินไม่ต้องให้น้ำ เมื่ออายุ 2 – 3 สัปดาห์ ต้องพรวนดินกลบโค่นและกำจัดวัชพืช  ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา  20–30 กิโลกรัมต่อไร่  พ่นยากำจัดเชื้อราและแมลงศัตรูพืชเมื่ออายุ 50–60 วัน ดอกเริ่มบานจากข้างล่างก่อน หลังดอกร่วงโรยจะติดฝักจากข้างล่างก่อนเช่นเดียวกัน ฝักจะแก่เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 120–130 วัน



การเก็บเกี่ยวผลผลิต มี 2 วิธี คือ ใช้รถเกี่ยวข้าวเก็บเกี่ยว แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุนเพราะลำต้นของมันมีความแข็งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรได้ และสำหรับเกษตรกรจะได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำจึงไม่คุ้มต่อการลงทุน และอีกวิธีคือการใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้ 3–4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบให้  ฝักแตก หรือนำมากองบนผ้าใบ บนตาข่าย บนลานแล้วใช้รถย่ำในบริเวณแปลงนาได้เลย ผลผลิตเฉลี่ย 80-120  กิโลกรัมต่อไร่ ราคาเฉลี่ย  20 – 25 บาทต่อกิโลกรัม

การใช้ประโยชน์

ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้น้ำหนักสดต่อไร่ 2 -5 ตัน/ไร่  เมื่อไถกลบจะปลดปล่อยธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจนในปริมาณสูง นิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับดิน  โดยเฉพาะ ในการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ดอน โดยปลูกในรูปแบบของพืชหมุนเวียน โดยหว่านหรือโรยเมล็ดก่อนการปลูกหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย หรืออาจปลูกในรูปแบบของพืชแซม โดยปลูกระหว่างแถวพืชหลัก เช่น ระหว่างแถว อ้อย  มันสำปะหลัง แล้วไถ/สับกลบเมื่อปอเทืองอายุประมาณ 50 – 60 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นแล้วทิ้งไว้ 7 – 10 วัน ปลูกหลังจากพืชหลัก

         ที่มาของข้อมูล : กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

 

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สวนป่าหลังบ้าน

        "แม่รักษาต้นไม้ในที่ดินส่วนตัวไว้ให้ลูก อนาคตลูกคนไหนจะปลูกบ้าน จะได้มีไม้ใช้ หรือหากจะซ่อมแซมบ้าน หรือทำอะไร จะได้ไม่ต้องไปหาที่ไหน ต่อไปไม้จะหายาก" เป็นคำพูดซ้ำ ๆ ของแม่ ตั้งแต่จำความได้ 

    ที่ดินทำกินของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย เมื่อมาถึงรุ่นพ่อ แม่ ยังเป็นผืนป่าโปร่ง ยังไม่ได้แผ้วถางเพื่อทำประโยชน์ สมัยเด็กจำได้ดี ป่าจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของครอบครัว หนอไม้  เห็ดโคน ผักหวานป่า หรือผักอื่น ๆ แม้แต่ผลไม้ป่าในสมัยนั้น ก็มีให้เด็ก ๆ เก็บกิน คลายความหิว เพราะสมัยก่อนไม่มีขนมกรุปกรอบ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ เหมือนสมัยนี้ 

    เมื่อถึงช่วงเวลาที่ครอบครัว จำเป็นต้องถางป่าเพื่อเพาะปลูก แม่จึงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นป่าหลังบ้าน เว้นไม้เนื้อแข็งไว้สำหรับก่อสร้าง เช่น มะค่า ไม้แดง ตะคร้อ สมอ  และอีกหลาย ๆ ชนิด  มาถึงยุคสมัยนี้ที่แม่จากไปนานแล้ว ลูก หลาน ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ลูก ปลูกบ้าน ก็ใช้ไม้ที่แม่เว้นไว้ให้นี้แหละ แม้จะรู้สึกเสียดาย ถึงคราวนี้  ลูกจะปลูกป่า คืนแม่แล้วนะ  และลูกจะทำป่าเล็ก ๆ หลังบ้านเรา ให้เป็นป่าที่มีประโยชน์ กับครอบครัวเราให้มากที่สุด...

ผืนป่าเล็ก ๆ หลังบ้าน  มีกิน มีใช้ มีเหลือขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว

ผักหวานป่า แทรกในไร่ชะอม  เพื่อให้เป็นพืชพี่เลี้ยง  ณ ตอนนี้สามารถเก็บผลผลิตรับประทานได้แล้ว และเริ่มมีเหลือขายได้บ้างแล้ว

ผักหวานป่า แทรกในป่าเบญจพรรณ  ตอนนี้ผักหวานป่า  เริ่มเก็บผลผลิตได้บ้างแล้ว

ผักหวานป่า  แทรกป่าเบญจพรรณ






โรงเรียนเพาะเห็ด
ล้อมรอบด้วยป่าเบญจพรรณ  เป็นอาหารบ้าง เป็นยาบ้าง เป็นพืชเพื่อใช้งานบ้าง
ความมั่นคงระยะยาว  ของครอบครัวเรา