วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

มะละกอ“แขกนวล”สายพันธุ์ยอดฮิต เนื้อแน่นกรอบอร่อยเหมาะสำหรับตำส้มตำ

 

มะละกอ“แขกนวล”สายพันธุ์ยอดฮิต เนื้อแน่นกรอบอร่อยเหมาะสำหรับตำส้มตำ

บันทึกการปลูกมะละกอ

12 สิงหาคม 2563 “ต้นกล้าลงดิน”

ปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ได้รับต้นพันธุ์มะละกอ “แขกนวล” จากพี่สาวบ้านใกล้เรือนเคียง  พี่เขาปลูกอยู่แล้วได้ผลผลิตดี และมาแนะนำ พี่ชาย ชายหนุ่มคนเดียวของบ้าน ก็เห็นดีเห็นงามด้วยพูดคุยหารือกันแล้วทุกคนก็ไม่คัดค้าน หนึ่งคือจะได้บุกเบิกที่ดินที่เคยรกร้าง ไม่เคยปลูกพืชมานาน ให้ฟื้นคืนสภาพอีกครั้ง ความเสี่ยงน้อย มีตลาดรองรับ ลงทุนไม่มาก (อาจจะมากสักหน่อยช่วงแรกเพราะต้องถักร้างถางพง หมดค่ารถปรับพื้นที่ ไถเกรด หลายครั้ง จนกระทั่งไถพรวน และทำแปลง) นอกจากนี้เป็นค่าต้นพันธ์ 500 ถุง ประมาณ 5,000 บาท ค่าวัสดุ ระบบน้ำ ค่าแรงนิดหน่อย เพราะส่วนใหญ่ ลงมือทำเอง

ช่วงที่รับต้นกล้ามาฝนตกต่อเนื่องแทบทุกคน จนกระทั่งวันปลูก 12 สิงหาคม ฝนก็ยังตกปรอยๆ พรมน้ำให้ผืนดินชุ่มฉ่ำ เรียกกันว่าไม่ต้องรดน้ำกันเลย

ก่อนปลูก เราหว่านปูนขาวบนดินเพื่อป้องกันเชื้อรา ขุดหลุมห่างประมาณ 1.5 เมตร ลึกประมาณ 6-7 นิ้ว เราไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรืออะไรรองก้นหลุม เพราะพี่สาวที่แนะนำบอกว่า ค่อยใส่ปุ๋ยเมื่อมะละกอตั้งตัวได้แล้ว

ต้นกล้ามะละกอ 1 ถุง มี 4-5 ต้น ก็มี เราก็ลงดินพร้อมกันหมด เมื่อโตแล้วจึงคัดต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก

กิจกรรมของเราวันนี้เสร็จแล้ว  รอคอยการเจริญเติบโตของไร่มะละกอ ต่อไป

ได้เวลาเรามาหาข้อมูลเพิ่มเติมกันแล้ว

สารานุกรมพืช

  ชนิดไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซาที่พบในประเทศไทยที่สำคัญๆ ได้แก่ วงศ์ Dipterocarpaceae, Pinaceae, Fagaceae, Betulaceae ยูคาลิปตัส กระถินรงค์ กระถินเทพา เป็นต้น หากอยากทราบรายชื่อชนิดไม้ในแต่ละวงศ์แนะนำให้เข้าไปในเวปนี้ http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx แล้วกรอกชื่อวงศ์ดังกล่าวจะมีรายละเอียดทั้งชื่อวิทยาศาสตร์และลักษณะทั่วไปของพันธุ์ไม้ด้วยค่ะ

มะค่าแต้

หากใช้อัตราส่วนตามที่อธิบายในคลิป (สปอร์ 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน) จะใส่เชื้อเห็ดเผาะให้แก่กล้าไม้เพียงครั้งเดียวค่ะ หลังจากใส่เชื้อประมาณ 4 เดือน เชื้อเห็ดจะเจริญเข้าไปอยู่ในราก และควรดูเลี้ยงกล้าไม้ต่อไปอีกจนกระทั้งกล้าไม้มีอายุประมาณ 1 ปี ถึงจะนำไปปลูกในพื้นที่ค่ะ

ต้นอ่อน "มะค่าแต้" 



วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ยาห้าราก : ตำรับยาสมุนไพรแก้ไข้

ยาห้าราก : สมุนไพรแก้ไข้

ยาห้าราก ยาเบญจโลกวิเชียร ยาแก้วห้าดวง หรือยาเพชรสว่าง ทั้งหมดนี้เป็นชื่อของตำรับยาเดียวกัน ยาห้ารากเป็นตำรับยาแผนโบราณของไทยที่มีการใช้กันมานานแล้ว โดยมีสรรพคุณในการใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษ หรือถอนพิษต่างๆ ตำรับยาจะประกอบด้วยรากสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ คนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) ชิงชี่ (Capparis micracantha DC.) เท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze) มะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa L.) และย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) ในอัตราส่วนที่เท่ากัน

นำสมุนไพรทั้ง 5 ตากให้แห้ง  บดละเอียด  และร่อนด้วยตะแกรงถี่

นำบรรจุแคปซูล  ทานครั้งละ 2 เมล็ด แก้ไข้หวัด

สูตรตำรับ ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วยรากคนทา รากชิงชี่ รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร รากย่านาง หนักสิ่งละ 20 กรัม

ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้

ขนาดและวิธีใช้ : ชนิดผง ชนิดแคปซูล และชนิดเม็ด

ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.5 ก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มก - 1 ก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

หมายเหตุ : ชนิดผงให้ละลายน้ำสุกก่อนรับประทาน

ข้อควรระวัง

ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก

หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดู หรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน


วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ผักกูด...ผักพื้นบ้าน...หวานกรอบ...ปลอดสารเคมี 100%

ผักกูด...ผักพื้นบ้าน...หวานกรอบ...ปลอดสารเคมีที่เป็นอันตราย

เมื่อเราชอบกินผัก  ดังนั้นเราก็สรรหาผักมาปลูก ความสุขก็อยู่ตรงนี้ละคะ เลือกผักที่ชอบทาน มาปลูก  แล้วเราก็กินสิ่งเราปลูก มีรัยเราก็ปลูกไปเรื่อย ๆ เราก็มีผักกินทั้งปี ช่วงไหนประชาชนโอดครวญว่าผักแพง หากเรามีผักเหลือขาย เราก็ดี หากไม่เหลือเผื่อขาย พอกินในบ้านไม่ต้องซื้อของแพง ๆ ก็ดี สรุปคือดีต่อใจปลอดภัยสารพิษ

12 มิถุนายน 2563

ซื้อต้นพันธุ์ผักกูด  300 ต้น และผักหนาม 300 ต้น


ผักพื้นบ้าน...โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยชอบกินผัก 2 ชนิดนี้เท่าไร แต่มองดูแล้วเป็นผักที่ยังเป็นที่นิยม ในกลุ่มคนที่ชอบผักพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษ เนื่องจากพืช 2 ชนิดนี้ไม่ทนต่อสารเคมี ได้รับเพียงเล็กน้อยก็แห้งเฉาตายได้อย่างรวดเร็ว  ที่สำคัญ ผัก 2 ชนิดนี้ ไม่ใช่พืชล้มลุก ไม่ต้องปลูกบ่อย ๆ ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นานหลายปี ขยายพันธ์ง่าย ดูแลไม่ยาก เพียงแต่ใช้น้ำเยอะหน่อย 

ใช้น้ำเยอะ  ตรงนี้แหละ เกรงจะเกิดปัญหาช่วงหน้าแล้งเหมือนกัน เพราะบ้านเราแล้ง โหดร้ายมาก แม้ว่าจะมีน้ำบาดาลมาช่วย ก็ไม่เต็มที่และมีปัญหาเรื่องตะกอนตกค้างจากน้ำบาดาลที่พืชไม่ชอบ ก็ต้องวัดดวงกันดู...

          เช่นเคยคะ...เมื่อเราปลูกสิ่งที่ไม่เคยทำ เราก็ต้องหาข้อมูลไว้เป็นความรู้  บันทึกเอาไว้เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่ต้องไปค้นคว้า  โลกปัจจุบันง่ายมาก สมัยโน้น  ต้องไปนั่งห้องสมุด หางานเขียนมากองเป็นตั้ง ๆ เปิดอ่าน เล่มไหนข้อมูลตรงกับที่เราต้องการก็ยืมมานั่งอ่านๆ และถ่ายเอกสารเก็บไว้เปิดดูภายหลัง  เดี๋ยวนี้  สามารถนำมาบันทึกเก็บไว้เลย  แต่ก็ต้องดูที่เขาอนุญาตนะ ไม่ติด ลิขสิทธิ์ และให้เครดิทเจ้าของข้อมูลเขาด้วย

ข้อมูลนี้มาจาก https://decor.mthai.com/garden  ขออนุญาตผู้เขียนเก็บข้อมูลเพื่อการเรียนรู้นะคะ

ผักกูด ผักพื้นบ้าน สารพัดประโยชน์ ธรรมชาติของต้นผักกูด จะเติบโตได้ดี ก็ด้วยดินในพื้นที่แปลงปลูกจะต้องไม่มีสารเคมีใดๆ ตกค้าง เพราะจะมีผลทำให้ต้นผักกูดแคระแกร็นไม่แตกยอด หรือไม่ก็ตายไปเลย โดยมากผักกูดจะเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้ตามตามริมน้ำหรือลำธารที่เป็นแหล่งธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะเป็นผักต้องการความชื้นสูง สภาพดินจะต้องอุ้มน้ำชื้นแฉะ แต่ไม่ท่วมขัง แสงแดดส่องรำไร ผักกูดถึงจะแตกยอด อ่อนได้ดี หากโดนแสงจัดจ้า ใบจะแห้งกรอบ และตายในไม่ช้า

วิธีปลูกผักกูด ในรั้วบ้าน สามารถนำมาปลูกใส่กระถางหรือลงดินโดยตรงก็ได้


ถ้าเป็นผักกูดต้นเล็กที่ได้มาจากการเจริญเติบโตจากซอไร หรือสปอร์ ควรปลูกไว้ในกระถางดีกว่าเพราะสามารถดูแลเอาใจใส่ได้ง่ายเนื่องจากเจริญเติบโตค่อนข้างช้ากว่าการนำเอาผักกูดต้นใหญ่มาแยกกอ ส่วนผักกูดต้นใหญ่การปลูกควรนำมาแยกให้เป็นกอเล็กๆแล้วค่อยนำไปปลูกในดินโดยตรงหรือปลูกไว้ในกระถางผักกูดต้นใหญ่มีการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็วให้ฟรอนด์ สำหรับนำไปปรุงอาหารได้ไวกว่าผักกูดที่เจริญมาจากซอไร

หลังจากเก็บผักกูดมาจากธรรมชาติแล้ว ให้คัดแยกต้นใหญ่และต้นเล็กโดยผักกูดต้นใหญ่หรือกอใหญ่ให้แยกกอ เป็นกอละหนึ่งฟรอนด์ก็พอ แล้วค่อยนำไปปลูกในสถานที่ปลูกที่มีความชุ่มชื้น มีแดดร่มรำไร เนื่องจากผักกูดชอบน้ำและที่อากาศเย็น อาจปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่หรือมีการพรางแสงให้อากาศเย็นทำให้ผักกูดสามารถเจริญเติบโตได้ดี

1.การปลูกในกระถาง ให้ใช้กระถางซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 7 นิ้วขึ้นไปเพราะถ้าผักกูดโตเต็มที่จะมีใบมีขนาดใหญ่และยาว แล้วใส่ดินปลูกลงไปประมาณสามส่วนของกระถาง ใส่ปุ๋ยชีวภาพ (หรือปุ๋ยคอก) ลงไปเล็กน้อย (ประมาณ 1 กำมือ) แล้วนำผักกูดลงปลูกและกลบดินในกระถาง รดน้ำให้ชุ่มและคอยรดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ(ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกใส่ทีละน้อยและใส่ได้บ่อย)

2.การปลูกลงดิน ให้เตรียมหลุมปลูกตามขนาดของต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกเล็กน้อย (ประมาณ 1 กำมือ) นำผักกูดลงปลูก กลบดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นคอยดูแลเรื่องน้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากต้นผักกูดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะชุ่มชื้น มีแดดร่มรำไร ดังนั้นเพื่อเป็นการเบาแดดและเก็บความชุ่มชื้นให้ต้นผักกูดจึงมี 2 วิธีการปลูกลงดินมาแนะนำเพิ่มเติมดังนี้

2.1 ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น โดยพืชที่เข้ากันได้ดีคือต้นกล้วย เนื่องจากรากกล้วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดินได้ดี และใบกล้วยยังช่วยพรางแสงให้กับผักกูด แต่ควรเสริมระบบให้น้ำด้วยสปริงเกอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น


2.2 ปลูกใต้สแลน กรองแสง 60–80% ควบคู่กับการตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำเพิ่มความชุ่มชื้น โดยทำหลังคาสแลนสูง 1.5-2 เมตร หลังจากยกร่องแปลงปลูกให้มีพื้นที่ว่างระหว่างร่อง 1.5 เมตรเสร็จแล้ว ให้หว่านมูลสัตว์ปรับหน้าดิน ลงต้นพันธุ์ (แขนง) ความห่างระหว่างกอ 50×50 ซม. ช่วง 1 เดือนแรกให้น้ำทุก 3-4 ชม. พร้อมคอยสำรวจเก็บวัชพืชที่อาจติดมากับมูลสัตว์ออกไปให้หมดเพื่อจะได้ไม่ไปแย่งอาหาร และเพราะผักกูดเป็นพืชมีเมือก ทำให้ไม่มีแมลงมากัดกินดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีปราบแมลงศัตรูพืช และทุกๆ 3 เดือน ให้เติมปุ๋ยระหว่างกอต้นผักกูด จุดละครึ่งกิโลกรัม และปล่อยน้ำให้ชุ่มชื้น ใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 6 เดือน จะเริ่มเก็บยอดได้ ขณะตัดยอดให้ตัดแต่งใบแก่ออกไปด้วย เพราะถ้าไม่ตัดออกจะทำให้ยอดใหม่แตกช้าและมีขนาดเล็ก

 ผักหนาม 

ผักหนาม หรือกะลี ชื่อวิทยาศาสตร์: Lasia spinosa เป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์ Araceae มันเป็นพืชที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินโดยมีหนามเกาะอยู่เต็มลำต้น ใบเดี่ยว ผิวใบด้านล่างและก้านใบมีหนาม ดอกช่อมีกาบหุ้มช่อดอกขนาดใหญ่รองรับช่อดอก สีเหลือง ดอกย่อยจำนวนมาก ผลมีเมล็ดเดียว พบทั่วไปบริเวณริมน้ำหรือพื้นที่ชื้น ... วิกิพีเดีย

ผักหนาม ผักพื้นบ้าน 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

             ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อย ทอดขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง มีหนามแหลมตามลำต้น ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวลูกศร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก รอยเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบกว้างมากกว่า 25 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร มีหนามตามเส้นใบด้านล่าง ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าลึก 9 พู ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว แข็ง ยาว 40-120 เซนติเมตร มีหนามแหลมตามก้านใบและเส้นกลางใบ ดอกออกเป็นช่อเชิงลด ทรงกระบอก เป็นแท่งยาวเท่าๆกับใบ ประมาณ 4 เซนติเมตร แทงออกมาจากกาบใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตรและมีหนาม มีดอกย่อยอัดกันแน่นเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลแกมเขียวถึงสีม่วง กาบหุ้มม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ ยาวได้ถึง 55 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อดอกแบบแท่งสแพดิก (spadix) ช่อดอกสีน้ำตาล ดอกตัวผู้อยู่ตอนบนและมีจำนวนมาก ดอกตัวเมียอยู่ตอนล่างและมีจำนวนน้อยกว่า ผลเรียงชิดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก ผลสด หนาและเหนียว ผลอ่อนสีเขียวมีเนื้อนุ่ม ผลแก่สีเหลืองแกมแดง  ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน และเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พบตามริมคู คลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ลำต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัดเหือด และไข้ออกผื่น สุกใส ดำแดง และใช้ถอนพิษ ใบ แก้ปวดท้อง แก้ไอ ราก ต้มน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ แก้เจ็บคอ รากและใบ ใช้ขับเสมหะ เหง้า เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัด เหือด สุกใส ดำแดง และโรคผิวหนัง ทั้งต้น แก้ปัสสาวะพิการ ยอดอ่อนและใบอ่อนรับประทานเป็นผัก โดยนำมาลวก หรือต้มกับกะทิ หรือทำผักดอง กินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกง แกงส้ม แกงไตปลา หรือผัด 
ผักหนามมีกรดไฮดรอไซยานิคซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนรับประทานเพื่อกำจัดพิษ


วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563

หญ้าแฝก พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ

หญ้าแฝก พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ

กลางเดือนพฤษภาคม 2563

เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อุณหภูมิภายนอกยังร้อนระอุ แตะ 40 องศา ในช่วงบ่าย เกษตรกรอย่างเราได้แต่นั่งมองท้องฟ้าเมื่อไรหนอฟ้าจะประทานฝนพรหมลงมาบ้าง เพื่อคลายความร้อนลง แต่เราก็ไม่รั้งรอเริ่มวางแผนเตรียมเพาะปลูกและพัฒนาผืนดินรองรับพืชพันธุ์ต่าง ๆ ตามวิถีของเรา แม้ความกังวนเรื่องน้ำน้อยช่วงปลายปีก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็จำเป็นต้องเสี่ยง ซึ่งก็เป็นอย่างนี้ในทุก ๆ ปี เพราะเกษตรกรน้ำฝน ต้องยอมรับสภาพ แม้จะพยายามหาแหล่งน้ำทั้งบาดาล และขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ แต่พอเจอสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง แหล่งน้ำที่กักเก็บไว้ก็แห้งเหือด  จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกอะไรได้ผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และสระน้ำที่ขุดลอกไว้กักเก็บน้ำก็มีการตื่นเขินเพราะคันดินสไลด์ลง

โชคดีของเราโครงการในพระราชดำริเชาชะงุ้ม โดยศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม มีนโยบายมอบ หญ้าแฝก ให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ปรับสภาพดิน และพื้นฟูแหล่งน้ำ ต้องขอขอบคุณอย่างสูง


รับต้นกล้าหญ้าแฝกจาก
โครงการในพระราชดำริเขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝก จึงได้ไปค้นคว้าข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นแนวทางการปลูกในพื้นที่ของตนเอง และนำมาบันทึกไว้เป็นความรู้

ลักษณะหญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย  ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน

การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้

1.       มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง

2.       มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก

3.       หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี

4.       ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้

5.       มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย

6.       ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ

7.       บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์

8.       ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป

9.       ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ


การเตรียมดินปลูกหญ้าแฝก

1.       การกำจัดวัชพืชและเตรียมพื้นที่

2.       การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่ปลูกต้องมีความชุ่มชื้น

3.       การเตรียมแนวร่องปลูก โดยการวางแนวร่องปลูกขวางความลาดชัด ตามแนวระดับขนานไปตามสภาพพื้นที่

4.       การใส่ปุ๋ยหมักรองกันหลุมในแนวร่องปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน

5.       การปลูกกล้าหญ้าแฝกในแปลงปลูก โดยการใช้กล้าเพาะชำถุงขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร หรือกล้ารากเปลือยใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร

6.       ความห่างของแถวหญ้าแฝกแต่ละแถว ขึ้นกับความลาดเทของพื้นที่ และชนิดของพื้นที่ปลูก โดยขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างทางแนวดิ่ง 1.5-3 เมตร

7.       กลบดินในร่องปลูกให้ต่ำกว่าระดับผิวดินปกติ เพื่อให้น้ำขัง และซึมลงดินได้ ช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น

8.       ควรปลูกซ่อมแซมให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่เป็นแนวยาวต่อเนื่อง

การดูแลรักษาหญ้าแฝก

1.       การคัดเลือกกล้าที่มีคุณภาพ กล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพโดยทั่วไปเป็นกล้าที่มีอายุ 45 ถึง 60 วัน เมื่อนำกล้าที่แข็งแรงมาปลูกก็จะได้แนวรั้วหญ้าแฝก ที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ

2.       การเลือกช่วงเวลาปลูก การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด สภาพของดินที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะมีความชุ่มชื้นสูงติดต่อกันมากกว่า 15 วันขึ้นไป

3.       การตัดใบ ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้น สูงจากพื้นผิว 5 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการแตกหน่อใหม่ และกำจัดหน่อแก่ที่แห้งตาย ในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยวใบสูง ไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร เพื่อให้มีแนวกอที่หนาแน่นในการรับแรงปะทะของน้ำไหลบ่า และในช่วงปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น 5 เซนติเมตร อีกครั้งเพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียว ในฤดูแล้ง

4.       การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ในต้นฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยหมักตามแถวหญ้าแฝกก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น

5.       การปลูกซ่อมและแยกหน่อแก่ออก การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่แข็งแรง และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอก หรือแห้งออกไป เพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย

1.       การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน

ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน

2.       การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ

นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอ และแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำ ควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก

3.       การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้

ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป

4.       การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่

การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนะระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ในช่วงต้นฤดูฝน

5.       การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม

ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝก จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้

6.       การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน

ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระ ตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระ และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกตามหลักวิชาการ

เพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

1.       การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถว ตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก

2.       สระน้ำปลูก 2 แถว

แถวที่ 1 ปลูกห่างขอบบ่อ 50 เซนติเมตร จนรอบบ่อ

แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ

3.       อ่างเก็บน้ำปลูก 3 แถว

แถวที่ 1 ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ

แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ 1 ตามแนวตั้ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคัน หรือสันอ่างเก็บน้ำ

แถวที่ 3 ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ

4.       ปลูกริมคลองส่งน้ำ 1 แถว ห่างขอบคลองส่ง 30 เซนติเมตร

5.       ปลูกบนร่องสวน 1 แถว ห่างขอบแปลง 30 เซนติเมตร

6.       ปลูกอยู่บนไหล่ถนน 1 แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง

7.       ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้

ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 3 เมตร

ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร

ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 9 เมตร

8.       ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้

ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร

ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 12 เมตร

ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 18 เมตร

การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นกรณีแถวตรงหรือแถวโค้งรอบต้นไม้ก็ตาม ถ้าใช้กล้าถุงมีระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร และกล้ารากเปลือยระยะปลูก 5 เซนติเมต

ที่มาสำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน  กรมพัฒนาที่ดิน  
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

เก็บไว้ดูเป็นความรู้