วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ทำไร่ “สไตล์เรา”

 ทำไร่ “สไตล์เรา” EP: 1

บ้านฉันต้องมีผักสดที่ชอบทาน ปลอดสารเคมีเป็นพิษ เก็บกินทุกวัน


ความสุขของคนที่ชอบกินผัก คือได้กินผักที่ชอบแบบสบายใจปลอดภัย ดีต่อใจสุด ๆ

เคยไหมซื้อผักมาแล้ว ต้องทิ้งทั้งหมด เพราะกลิ่นอบอวลชวนขนหัวลุกของ “สารพิษ” ที่อยู่ในผัก บางทีกินเข้าไปแล้วมีรสขมแสบปล่าที่ปลายลิ้น และริมฝีปาก .. พบเจอบ่อย ๆ

“ปลูกกินเองดีกว่า”

เลือกบริเวณที่ดินติดชายป่าหลังบ้าน  กลางปี 2563 ได้นำมะละกอ พันธุ์แขกนวล มาปลูก วันนี้ต้นมะละกอเริ่มโทรม มีบางส่วนตายไป  ส่วนที่เหลือพอมีผลผลิตอยู่บ้าง ก็เว้นไว้เก็บกินบ้าง เก็บขายบ้างตามโอกาส

ปลูกไม้ยืนต้นไว้เก็บผลผลิตระยะยาว



ต้นปีที่แล้ว ได้นำปาล์มน้ำมัน และโกโก้ มาปลูก แทรกมะละกอ ด้วยคิดว่า วิธีการนี้จะบังคับตัวเองให้กำจัดวัชพืช รดน้ำ บำรุงดินสม่ำเสมอ การต่อสู้ที่โหดสุด ๆ คือ หญ้าคา แห้วหมู หญ้าหวาย และเถาวัลย์ เป็นปัญหาใหญ่ กระจายเร็วมาก เราพยายามสู้ด้วยสองมือ อุปกรณ์คือ “จอบ” ถากเฉพาะโคน เพื่อทำความสะอาดและใส่ปุ๋ยเฉพาะต้น  ไม่นานหญ้าก็ปกคลุมอีก แต่ก็ยังทำวิธีนี้อยู่ และพยายามหาวิธีมาแก้ไขปัญหาอีก  ชาวบ้านใกล้เรือนเคียง พยายามแนะนำวิธีที่พวกเขาบอกว่าง่ายมาก “ฉีดยาสิ” รับรองยี่ห้อนี้....ตายหมดรับประกัน ลองแล้วได้ผล เมื่อปฏิเสธคนนี้ไป คนอื่น ๆ ก็มาแนะนำอีก “ฉีดยาสิ” เอาไม่ไหวหรอก “ทำไมไม่ฉีดยา” ฯลฯ

ต่อสู้ด้วย“มือของเรา”


คิดได้ตอนนี้คือ ปลูกพืชอื่นแทรกอีกชั้น เป็นพืชระยะสั้น ก่อนปลูกก็ต้องกำจัดวัชพืช เมื่อเก็บผลผลิตแล้ว ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ กำจัดหญ้า และวัชพืชเหล่านั้นอีกครั้ง ทำบ่อย ๆ เมื่อไม้ยืนต้นเติบโต ก็จะปกคลุมวัชพืชเหล่านี้ได้ เมื่อคิดได้ดังนี้ก็เริ่ม

ทำเท่าที่มีแรง

ไม่มีประสบการณ์อะไรมากมายนัก ยังต้องทำงานประจำ ว่างเฉพาะวันหยุด ซึ่งบางครั้งต้องทำธุระโน่น นี่ นั่น ก็จะไม่ได้ทำเต็มวัน แต่ว่างก็ทำ  เริ่มจากถากหญ้าบริเวณที่เป็นแปลงด้านบนร่อง...ถากจนเตียนแล้วสับ  ตีดินจนร่วน ทำเป็นแปลงปลูกผัก ใส่ปุ๋ยและใบไผ่  รดน้ำหมักดินไว้ วันเสาร์ต่อไป ก็ปลูก ก่อนปลูกสับดินอีกครั้ง เพราะวัชพืชเล็ก ๆ เริ่มโผล่พ้นดินขึ้นมาเป็นแผง ๆ ทำแปลงเล็ก ๆ เพื่อความสะดวกในการดูแล

ปลูกผักสวนครัวที่ชอบกิน




หาซื้อซองเล็ก ๆ ซองละ 10-20 บาท กวางตุ้ง  คะน้า  ผักบุ้ง แตงกวา มะระ กระเจี๊ยบ บวบ  หัวไชเท้า...กระชาย  ปลูกหลาย ๆ อย่าง เราจะมีผักหลาย ๆ ชนิดไว้เก็บกิน ปลูกไป ๆ ก็ทำไปเรื่อย ตอนนี้เพิ่มมะเขือเปราะ แตงไท พริกหนุ่ม พริกจินดา ...หลากหลายตามใจชอบ...

ปากพูดว่าจะหยุดปลูก  เพื่อจะได้ดูแลผักที่ปลูกไว้ให้ดี ๆ แต่....เย็นนี้ แวะซื้อเมล็ดพันธุ์ “มะเขือเทศราชินี” ซักซอง เพาะไว้ก่อน ยังไม่รู้จะลงตรงไหน “ชอบกิน”.../

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ไส้งาดำ

 ไส้งาดำ


เปิดสูตรไส้งาดำ   อร่อยดีมีประโยชน์ทานได้สบายใจ สายสุขภาพต้องลองคะ 

สูตรนี้สำหรับทำไส้ขนมปั้นสิบอบไส้งาดำ นะคะ บ้านเราเน้นอาหารพื้นบ้าน ง่าย ๆ เพื่อสุขภาพ

ส่วนผสมดังนี้

- งาดำคั่วบดละเอียด   120 กรัม

- น้ำตาลมะพร้าวอย่างดี   100 กรัม(ลดได้ตามชอบคะ)

- เกลือ 1/2 ช้อนชา

วิธีทำ

        ลำดับแรกต้องเตรียมส่วนผสมชั่งน้ำหนักไว้ก่อนเริ่มต้นทำเพื่อความสะดวก  นะคะ

ตั้งกระทะ  ใช้ไฟปานกลางถึงอ่อน คะ  ใส่น้ำตาลมะพร้าว และเกลือ  คนให้น้ำตาลละลาย ใส่งาดำคั่วป่นลงไปผัดต่อให้แห้งเหนียวพอประมาณ พักไว้ให้เย็นพอปั้นได้

เท่านี้ก็ได้ไส้งาดำ พร้อมสำหรับปั้นสิบอบ แล้ว ละคะ โพสต์หน้า เราจะพาไปทำปั้้นสิบกัน


วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เห็ดเผาะ เพาะเองได้

 

เห็ดเผาะ



เห็ดเผาะ เป็นอาหารชั้นเลิศ มักขึ้นในป่าเต็งรัง ช่วงฝนตกชุก หาทานยาก  และราคาแพง จึงมีการทดลองเพาะในกล้าไม้  พืชอาศัยของเห็ดเผาะ  ได้แก่พืชวงศ์ยางนา กระถินณรงค์ กระถินเทพา

โดยใช้   ดอกเห็ด หรือสปอร์ จากเห็ดที่แก่จัด สังเกตุด้านในเป็นผงสีเทาดำ หรือน้ำตาลเข้มมาเป็นเชื้อเพื่อขยาย

โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. เลือกเห็ดแก่  ใช้กรรไกร ตัดเปลือกด้านนอกออก ใช้เฉพาะผงสปอร์ ด้านในแคะสปอร์ ออกมา

2. นำไปบดให้ระเอียด 

3. นำไปใส่ในเครื่องปั่น ผสมน้ำ  สปอร์ 1 ส่วน น้ำ 10 ส่วน

4. หยดน้ำยาล้างจาน 1-2 หยด ช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำ เพื่อให้น้ำกับสปอร์ เข้ากันได้ดี ใช้เวลาปั่น 1-2 วินาที  จำจะได้หัวเชื้อที่เป็นสารแขวนลอยสปอร์   

5.นำสารแขวนลอยสปอร์  ไปรดกล้าไม้  1 ช้อนโต๊ะ  เคล็ดลับยิ่งกล้าไม้เล็ก อายุน้อย ๆ ยิ่งดี หยอดลงไปแล้ว หัวเชื้อจะไปจับที่รากไม้ ช่วยให้กล้าไม้มีความแข็งแรง อีกด้วย  เมื่อสภาพอากาศที่เหมาะสม เห็นเผาะก็จะเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ เก็บไว้รับประทาน หรือขายได้

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

ขนมปั้นสิบ-อบ(ไส้ปลา)

 ขนมปั้นสิบอบ (ไส้ปลา)

ขนม ขนม ขนม ร่างกายต้องการขนม แม้น้ำตาลในเลือดจะเปี่ยม ปริ่ม หรืออาจเกินความต้องการของร่างกายไปแล้ว แต่ทุกวันยังปรารถนาขนม...สิ่งนี้ดลใจให้ลงมือทำ“ขนมปั้นสิบ” เหตุเกิดจากความ “อยาก” แต่หากินของอร่อย ยาก จึงเรียนรู้และลงมือทำ ไม่ใช่ง่ายๆ เลย เครื่องปรุงมากกว่า 10 ชนิด และขั้นตอนยุ่งยากมากมายใช้เวลาเกือบหมด 1 วัน กว่าจะออกมาเป็น “ขนมปั้นสิบ ไส้ปลา” แต่ผลลัพธ์ ที่ออกมาเยี่ยมยอดมาก ๆ นั่งฟินส์ ชิมฝีมือตัวเองอร่อยม๊ากก ผู้คนรอบข้างได้ชิมก็เอ่ยปาก อื๊ม “อร่อย ๆ” ปลื้ม ๆ ครานี้เลยตั้งหน้าตั้งตาฝึกทักษะการปั้น...เพื่อให้สิบจีบ มีความคมสวยงาม ปั้นไส้..กลม ๆ แน่น ๆ ให้มั่นคงไม่เล็ก ไม่ใหญ่เท่า ๆ กัน...พัฒนาแป้ง  พัฒนาสูตรไส้  พัฒนารูปแบบอื่น ๆ เช่น เดิมใช้การทอดตามสูตรที่ได้มา กรอบ อร่อย กิน ๆ ไปก็เป็นห่วงตัวเอง ไหนจะน้ำตาล ไหนจะไขมัน จ่อ ๆ อาจจะต้องพบหมอเป็นประจำ หากไม่ลดพฤติกรรม จึงปรับเป็นใช้ “วิธีอบ” แทน “การทอด” ผลออกมาก็ดีมาก ๆ แม้ว่าการอบครั้งแรกจะมีสีเข้มไปหน่อย ครั้งต่อมาก็ดีขึ้น

                 ตอนนี้...เราบันทึกสูตรไว้ก่อนดีกว่าเก็บไว้ดู นานไปสูตรเพี้ยน  จะได้กลับมาดู

ไส้ปลา

            เตรียมวัตถุดิบที่หลากหลายกันก่อนคะ

1)     เนื้อปลา  300 กรัม

เนื้อปลาชนิดไหนก็ได้ แต่วิธีการทำจะต่างกันไปเนื่องจากปลามีความคาวต่างกัน สูตรนี้ใช้ “ปลาซาบะ”  เนื่องจากเป็นปลาทะเล ให้คุณค่าทางอาหารสูง มีโอเมก้า 3 เนื้อแน่น กระดูกและ ก้างน้อย จัดการกลิ่นคาวง่ายกว่าปลาน้ำจืด

2)     ไชโป้วหวาน  300 กรัม

สับละเอียด วัตถุดิบชนิดนี้ เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดรสชาติของไส้ขนม เพราะมีรสหวานและเค็ม แบบเข้มข้น (บางสูตรไม่ใส่)

3)     หอมแดง  300 กรัม

            สูตรนี้ใช้หอมแดงใหญ่ สับละเอียด

4)     น้ำตาลปี๊บ  500 กรัม

สูตรนี้ใช้น้ำตาลมะพร้าวอย่างดี กก.ละ 55 บาท

5)     ถั่วลิสงคั่ว  บด หยาบ  180 กรัม

6)     ข่าสด  สับละเอียด  10 กรัม

7)     ตะไคร้สด  สัดละเอียด  10 กรัม

8)     กระเทียมสับ  25 กรัม

9)     รากผักชีสับ  25 กรัม

10)พริกไทเม็ด 20 กรัม

สูตรนี้ใช้พริกไทยดำ หอมเครื่องเทศ ทำให้รสชาติเข้มข้น

11) น้ำปลา 120 กรัม

ชิมรสก่อนก่อนเติม

12)  น้ำมันสำหรับผัดไส้

       เฉพาะวัตถุดิบสำหรับไส้ปลา...ก็เกิน 10 ชนิดแล้ว  ไม่เข้าใจตัวเองทำไมจึงชอบ ทำไมอยากทำ ไปคะ  ไปดูขั้นตอนการทำกันดีกว่า แล้วก็ประเมินกันว่าควรทำกินหรือซื้อกิน

       ขั้นตอนการทำ

1)     นำปลาไปนึ่ง

ขั้นตอนการนึ่งปลา นำปลาไปล้าง ท้อง ไส้ ด้วยน้ำเกลือหลาย ๆ น้ำ มั่นใจว่าสะอาด นำข่าสด และตะไคร้สับ คลุกให้ทั่วตัวปลา ส่วนที่เหลือยัดใส่ท้องปลา  นึ่งไฟกลางประมาณ 20 นาที

2)     แกะเนื้อปลาที่นึ่งแล้ว ปริมาณ 300 กรัม สับให้ละเอียด พักไว้

3)     ปอกหอมแดง  ชั่งน้ำหนัก 300 กรัม สับให้ละเอียด  พักไว้ด้วยกัน

4)     นำไชโป้วหวาน ล้างน้ำสะอาด  ชั่งน้ำหนัก 300 กรัม สับให้ละเอียด พักไว้ด้วยกัน 

5)     นำรากผักชี กระเทียม ข่าสับ พริกไทเม็ด ที่โครกจนละเอียด  ตักออกพักไว้ด้วยกัน

6)     ตั้งกระทะบนเตา (ใช้ไฟกลาง) นำน้ำมันเทในกระทะ นำรากผักชี กระเทียม ข่าสับ พริกไทเม็ด ที่โครกแล้ว ผัดจนสุก มีกลิ่นหอม สีเหลือง จากนั้นใส่หอมแดงสับ  ผัดต่อจนสุก  สังเกตเนื้อหอมแดงใส  จากนั้นจึงใส่วัตถุดิบอื่น ๆ น้ำตาลปี๊บ ไชโป้วหวาน เนื้อปลา ผัดให้เข้ากันชิมรส  ค่อย ๆ เติมน้ำปลา ผัดต่อจนแห้งลดไฟอ่อน ผัดต่อใส่ถั่วลิสงบดหยาบ ผัดต่อจนแห้ง

       ตักใส่ภาชนะ  ทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำมาปั้น สูตรนี้หากปั้นไม่หมดสามารถแช่ตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน

แป้ง

แป้งเค้ก  ตราพัดโบก  640 กรัม

แป้งข้าวเจ้า  100  กรัม

น้ำตาลทราย 15 กรัม

เกลือ  10 กรัม

ไข่ไก่ 2 ฟอง

น้ำมันพืช   120  กรัม

น้ำปูนใส  180 กรัม

วิธีทำ

          ร่อนแป้ง 2 ชนิดลงในอ่างผสม  เติมน้ำตาลทราย เกลือ คนให้เข้ากัน ใส่ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำปูนใส  คนให้ส่วนผสมเข้ากัน....นวด ๆ   จนแป้งเข้ากันเป็นเนื้อเนียน นวดด้วยมือ ประมาณ 35-45 นาที   นำแป้งที่ได้ใส่ภาชนะ  ปิดฝาให้สนิท พักแป้งไว้ 30 นาที

วิธีการปั้น

          ปั้นไส้cขนม เป็นก้อนกลม ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ

          ตัดแป้งพอประมาณ  ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ รีด เป็นแผ่นบาง ๆ ใช้พิมพ์กด เป็นวงกลม ใส่ไส้ตรงกลาง พับแป้งสองทางให้ชนกัน บีบให้แป้งติดกัน จับจีบ เริ่มจากด้านขวา(ตามถนัด) วนไปจนหมดแผ่นแป้ง  นับให้ได้ 10 จีบ (จึงเรียกว่าขนมปั้นสิบ  ไม่ไม่ครบเรียกว่าขนมปั้นคริบ)

          วิธีการทอด

          น้ำมันทอด....ใช้น้ำมันปาล์ม ก่อนทอด ตั้งน้ำมันให้ร้อนก่อน นำขนมลงทอด  และควรนำขนมลงทอดพร้อม ๆ กัน  เพื่อให้สุกสม่ำเสมอ

          การอบ ใช้ความร้อน 180 ไฟบน-ล่าง 10 นาที นำออกมากลับ  และอบต่ออีก 10 นาที

          ที่สำคัญ...ระวังไหม้ ด้วยคะ

          ข้อควรระวัง

          การปั้นแป้งอย่าให้แป้งขาด เพราะเมื่อทอดจะทำให้มีเศษไส้ขนมตกในค้างในน้ำมัน ทำให้ไหม้ได้ง่าย

          จับจีบบีบแป้งให้ติดกันแน่น ๆ เมื่อทอด ขนมจะไม่ปริแตก

          สูตรนี้...ใช้วิธีอบแทนการทอด ลดการบริโภคน้ำมันเพื่อสุขภาพ.../      


 

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

มะขามเปรี้ยวยักษ์...มะขามเปียก...เก็บไว้กินเก็บไว้ขายได้ทั้งปี.../

มะขามเปรี้ยวยักษ์...มะขามเปียก...เก็บไว้กินเก็บไว้ขายได้ทั้งปี.../




          ดึกมากแล้ว...รายการทีวีช่องโปรด...จบแล้ว...อีกประเดี๋ยวค่อยนอนรอดูข่าวภาคดึกก่อน...? ความจริงคือ...งานยังไม่เสร็จ 555

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคมของทุก ๆ ปี สมาชิกบ้านเราจะมีงาน part time ให้ทำก่อนนอน “แกะมะขาม” คืนหนึ่ง ๆ ประมาณ 4-5 กิโลกรัม มีรายได้เสริมพอเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันได้อีกทาง

หลายปีที่แล้ว...ได้กิ่งพันธุ์ “มะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักดาบ” มา 5 ต้น จากต้นพันธุ์ที่บ้านเพื่อนร่วมงานจึงนำไปปลูกไว้หลังบ้าน  เว้นระยะห่าง....โดยไม่ได้คิดเผื่อไว้ว่าเมื่อนางโตขึ้น จะแผ่กิ่งก้านสาขาไปอีกหลายเท่าตัว ดังนั้นเมื่อเธอเจริญเติบโตเต็มวัย ระยะห่างที่เว้นจึงไม่พอส่งผลให้ผลผลิตน้อย จึงตัดใจตัดทิ้งไป 2 ต้น ผลผลิตก็ยังคงมีไม่มาก ปีที่แล้ว จึงตัดใจตัดทิ้งไปอีกต้น เหลือเพียง 2 ต้น ได้ผลดีมาก ปีนี้มะขามออกดอกออกผลน่าปลื้มใจ เก็บเกือบเดือนแล้วยังไม่หมด...ปลื้ม ๆ

          มะขามเปรี้ยวยักษ์ มีหลายสายพันธุ์ เราไม่รู้ว่าที่เราปลูกนี้เป็นสายพันธุ์ไหน ลักษณะฝักมีขนาดใหญ่และยาว โค้งงอ เหมือนพระจันทร์เสี้ยว ฝักแบน เนื้อไม่หนา เม็ดในและเนื้อเยื่อติดกันไม่ร่อน เหมือนมะขามพันธุ์พื้นเมือง ปอกเปลือกแล้วผึ่งแดดสักพักให้หมาด ๆ ช่วยให้การแกะเมล็ดง่ายขึ้น ส่วนรสชาตินั้น  เปรี้ยวปรี๊ด ๆ

          นอกจากนี้ในไร่เรา  ยังมี มะขามเปรี้ยวพันธุ์โบราณอีกหลายต้น...ลักษณะฝักกลมเล็ก รูปทรงยาวเนื้อเยอะ แกะง่าย มีรสเปรี้ยว-อมหวาน ปรุงอาหารอร่อย  ปีนี้ทำใจ ได้ผลผลิตน้อย เพราะกระรอกขโมยกินเกือบหมด...กินตั้งแต่เป็นฝักอ่อน กินจนมะขามเป็นฝักแก่และสุกก็ยังขโมยกิน ไม่เกรงอกเกรงใจเจ้าของเค้าปลูกมาตั้งหลายปี ได้แต่นั่งมองใช้หนังสติ๊กไล่ เดี๋ยวเดียวก็มาอีก แย่งกระรอกมาพอได้บ้างปอกเปลือกแกะเมล็ด เก็บไว้กินนาน ๆ ครอบครัวเราชอบทำอาหาร ทุก ๆ เช้า เราต้องใส่บาตรพระที่มาบิณฑบาตหน้าบ้าน เป็นสิริมงคลก่อนแยกย้ายกันไปทำหน้าที่แต่ละคน ทำแล้วมีความสุขก็ทำต่อไป จร้า...




วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

โรงเรือนปลูกผัก...ออร์แกรนิค

 ปลูกเอง...กินเอง...ใครจะซื้อก็ขาย นร๊า


สมาชิกในบ้านทุกคนชอบกินผัก...ปลูกผักกินเองมาแต่เล็กแต่น้อย ก็ต้องยอมรับว่าบางช่วงเวลาผลผลิตในไร่ ออกไม่ทันบริโภค หรือบางทีเราก็อยากบริโภคสิ่งที่เราไม่ได้ปลูกหรือสิ่งที่เราปลูกบริโภคทุกวันจนเบื่อ 555 ก็ต้องไปพึ่งพาตลาดสดใกล้บ้าน...เมื่อกลับมาปรุงอาหารสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งมักจะบ่นอยู่เสมอเพราะเธอเป็นผู้ที่ร่างกายไวต่อสารเคมีเป็นพิษ เธอจะผลักอาหารชามนั้นออกจากสำรับกับข้าว และบอกกับทุกคนว่าผักชนิดนี้อย่ากิน “ยาเยอะ” คำว่า “ยา” ของเธอคือยาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าวัชพืช ที่ผู้ปลูกใช้ เราก็ได้แต่นั่งมองหน้าเพราะเราอยากกิน บางทีเราก็เถียงขำ ๆ ว่า “กินไปเถอะ..สะสมได้อีกนานยังไม่ตายหรอก” 555

          ผู้แพ้สารเคมีเป็นพิษจึงเอ่ยชวน...งั้นปลูกผัก“ออร์แกนิค” กินกันเองดีกว่าไหม ?

          ดูแลยากนะ...พวกเราไม่เคยปลูก?....“เอาน่าลองดู...ปลูกในกระถางก่อน ไม่ต้องมากข้าง ๆ บ้านนี่แหละ

          เราช่วยกันค้นหาวิธีการปลูกจาก “ยูทูป” ลองผิดลองถูกันหลายเดือนในที่สุด “บ้านเราก็มีผักปลอดสารพิษกิน” เพียงแต่ 4-5 กระถาง เราเก็บกินได้นาน หลายเดือน ผักสด ใบสวย ปลอดสารเคมีเป็นพิษ เก็บกินได้ทันทีเมื่อต้องการ ฟินด์ สุด ๆ จากนั้นคนคิดการใหญ่จึงตามมา...ทำโรงเรือนกัน...??? 555


          น้องชายคนเล็ก...มีความรู้เรื่องการทำโรงเรือนปลูกผัก  จึงอาสาทำให้ เราเพียงซื้อวัสดุให้ และช่วยทำในสิ่งที่ทำได้...ประกอบอาหาร น้ำ หรือเครื่องดื่ม เย็น ๆ เตรียมไว้ให้ โรงเรือนหลังแรกของครอบครัวเราสำเร็จ


พลบค่ำ วันที่ 4 มีนาคม 2564 น้องชายชวนพี่ชายมุงหลังคา กันก่อนหากทำตอนเช้า อากาศร้อน ทำงานลำบาก หลานชายอีกคนผ่านมาจึงช่วยกันอีกแรง เสร็จงานหลังคาประมาณ 1 ทุ่มเศษ หน่วยสนับสนุนกำลังบำรุงยกสำรับกับข้าวมาเสริมแรงคนทำงาน วันนี้มีแกงมะรุม ต้มพะโล้ ผัก น้ำพริก แถมแล้วข้าวโพดข้าวเหนียวต้ม อิ่มหนำสำราญ สวนเสเฮฮากันสักพักก็แยกย้ายกลับบ้าน




วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

มะละกอ“แขกนวล”สายพันธุ์ยอดฮิต เนื้อแน่นกรอบอร่อยเหมาะสำหรับตำส้มตำ

 

มะละกอ“แขกนวล”สายพันธุ์ยอดฮิต เนื้อแน่นกรอบอร่อยเหมาะสำหรับตำส้มตำ

บันทึกการปลูกมะละกอ

12 สิงหาคม 2563 “ต้นกล้าลงดิน”

ปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ได้รับต้นพันธุ์มะละกอ “แขกนวล” จากพี่สาวบ้านใกล้เรือนเคียง  พี่เขาปลูกอยู่แล้วได้ผลผลิตดี และมาแนะนำ พี่ชาย ชายหนุ่มคนเดียวของบ้าน ก็เห็นดีเห็นงามด้วยพูดคุยหารือกันแล้วทุกคนก็ไม่คัดค้าน หนึ่งคือจะได้บุกเบิกที่ดินที่เคยรกร้าง ไม่เคยปลูกพืชมานาน ให้ฟื้นคืนสภาพอีกครั้ง ความเสี่ยงน้อย มีตลาดรองรับ ลงทุนไม่มาก (อาจจะมากสักหน่อยช่วงแรกเพราะต้องถักร้างถางพง หมดค่ารถปรับพื้นที่ ไถเกรด หลายครั้ง จนกระทั่งไถพรวน และทำแปลง) นอกจากนี้เป็นค่าต้นพันธ์ 500 ถุง ประมาณ 5,000 บาท ค่าวัสดุ ระบบน้ำ ค่าแรงนิดหน่อย เพราะส่วนใหญ่ ลงมือทำเอง

ช่วงที่รับต้นกล้ามาฝนตกต่อเนื่องแทบทุกคน จนกระทั่งวันปลูก 12 สิงหาคม ฝนก็ยังตกปรอยๆ พรมน้ำให้ผืนดินชุ่มฉ่ำ เรียกกันว่าไม่ต้องรดน้ำกันเลย

ก่อนปลูก เราหว่านปูนขาวบนดินเพื่อป้องกันเชื้อรา ขุดหลุมห่างประมาณ 1.5 เมตร ลึกประมาณ 6-7 นิ้ว เราไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรืออะไรรองก้นหลุม เพราะพี่สาวที่แนะนำบอกว่า ค่อยใส่ปุ๋ยเมื่อมะละกอตั้งตัวได้แล้ว

ต้นกล้ามะละกอ 1 ถุง มี 4-5 ต้น ก็มี เราก็ลงดินพร้อมกันหมด เมื่อโตแล้วจึงคัดต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก

กิจกรรมของเราวันนี้เสร็จแล้ว  รอคอยการเจริญเติบโตของไร่มะละกอ ต่อไป

ได้เวลาเรามาหาข้อมูลเพิ่มเติมกันแล้ว