วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

ลูกหัวติดต่อ

บันทึกเกษตรกรมือใหม่ : ต้นไม้หลังบ้าน“ลูกหัวติดต่อ”
ระหว่างรอคอยพัฒนาการของต้นฟักข้าว และการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธ์ที่เพิ่งเพาะลงในผืนดิน อยากพาไปดูต้นทุนที่มีอยู่หลังบ้าน เป็นพันธ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ที่แม่เอามาปลูกบ้าง ขึ้นเองตามธรรมชาติบ้าง มีหลากหลายเนื่องจากว่าหลังบ้านนั้น เป็นป่าละเมาะเล็ก ๆ เนื้อที่ไม่กว้างนัก แต่มีพรรณไม้ที่หลากหลาย แต่ละชนิดสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งไผ่ป่า  ไม้เต็งรัง  มะค่า  ไม้แดง ไม้เหล่านี้มีอายุหลายสิบปีเมื่อจำเป็นก็นำมาใช้ แม่อนุรักษ์ให้เป็นป่าไม้ธรรมชาติมานาน ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นอยู่อย่างนี้ ปัจจุบันก็ยังอยู่อย่างนี้ ทำให้เป็นพื้นที่อาศัยของพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ รวมทั้งเห็ดโคน มีให้กินทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล
ต้นไม้ชนิดแรกที่อยากแนะนำ เพราะเป็นช่วงฤดูกาลที่กำลังผลิ-ดอก ออกผลให้คนกินเป็นอาหาร “ชะเอมสวน” เป็นภาษาที่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่ภาษาถิ่นที่บ้านรู้จักมาแต่เล็กแต่น้อยเรียกว่า “ลูกหัวติดต่อ” คงเป็นเพราะลักษณะทางพันธุกรรมของมันที่ขั้วผล จะมี 2 ผล หัวติดกัน ผลอ่อนมีสีเขียวคล้ายฟันเฟือง นิยมจิ้มน้ำพริกบางคนชอบต้ม บางคนชอบดิบ สุดแล้วแต่ ส่วนตนเองชอบทั้งสองอย่างผลสดก็กินกรอบ ๆ ต้มสุกแล้วจะเพิ่มรสหวานอร่อยไปอีกแบบ จิ้มน้ำพริกเผา กินกับปลาทูนึ่งทอด
ในความคิดหนึ่งเกิดอยากรู้ว่า  เจ้าลูกหัวติดต่อนี้  ที่อื่น ๆ เขามีกันไหมนะ แล้วถ้ามีเขาตั้งชื่อว่าอะไร  จึงลองเข้าไปค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่มาที่แสนง่ายดาย กูเกิ้ล  เว็ปไซท์  ยอดฮิต และเป็นเวปที่เราสามารถหาข้อมูลอะไรก็ได้เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยหาอะไรไม่เจอเลย  ก็พบว่า “ชะเอมไทย” ที่บ้านเราเรียกว่า “ลูกหัวติดต่อ” นั้น  บางพื้นที่อื่นเขาเรียกว่า อ้อยสามสวน กอน ขมเหลือง เครือเขาขมเหลือง
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า : Myriopteron extensum   Schum.
ชื่อวงศ์ :PERIPLOCACEAE
ลักษณะไม้เถาขนาดกลาง มีน้ำยางขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง 5-6.5 ซม. ยาว 8-9 ซม. ก้านใบเรียว ยาว 1.5-4 ซม. ดอก ออกเป็นช่อหลวมๆตามซอกใบ ยาว 7-18 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบรองดอกเล็กมาก กลีบดอกรูปหอก ขนาด 0.8 ซม. ผล รูปกระสวย ลักษณะเป็นพูทรงกลม ปลายแหลมมน เปลือกนอกบาง ออกเป็นคู่ เมื่อแก่จะแห้งแตกตามรอยตะเข็บเพียงด้านเดียว กว้าง 2 ซม. ยาว 7.5 ซม เมล็ด รูปรียาว 0.8 ซม.
เถามีรสหวาน คนพื้นบ้านนิยมตัดเป็นท่อนๆให้เด็กเคี้ยวเพื่อให้ชุ่มคอ และแก้เจ็บคอ
ข้อมูลจากเอกสาร : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3
ตอนนี้ชะเอม  ที่ริมป่าหลังบ้านกำลังออกลูกดกพอสมควร มันถูกแปรรูปเป็นอาหารไปหลายมื้อแล้ว ตอนเก็บผลค่อนข้างลำบากเพราะชะเอม เป็นไม้เถามันไต่ขึ้นไปบนยอดสะเดาบ้าง  มะขามบ้างตามแต่ใจของพันธุ์ไม้เลื้อยใกล้ต้นไหนก็ขออาศัยพักพิง วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการตัดกิ่งไม้หลักให้หล่นลงมาเพื่อเก็บกินได้ง่าย ถือเสียว่าเป็นการตัดแต่งกิ่งไม้ไปในตัว
                เห็นลูกชะเอมห้อยระย้า ทำให้ความคิดเริ่มบันเจิดไปเรื่อย ๆ ถึงสวนพอเพียงในฝันของฉัน ฉันจะทำมันให้เป็นสวนสมุนไพรอาหารป่าหายาก และแล้วแผนผังไร่เล็ก ๆ ของฉันก็ผุดขึ้นในความคิด
                ตอนนี้ฉันมีที่ดินอยู่ 1 ไร่เศษ ปลูกรวกหวานไปแล้ว 30 ต้น มีที่ว่างอีกเล็กน้อย ฉันลงมือปลูกฝักข้าวไปแล้ว 150 ต้น (จะเป็นครบทุกต้นหรือเปล่า ยังลุ้น) พื้นที่ตามแนวริมถนนฉันจะปลูกแก้วมังกร ให้เป็นผลไม้ไว้กิน สลับต้นฟักข้าว ฉันจะปลูกชะเอมสวน  และใบหญ้านาง สลับกันไป เมื่อไรที่ผลชะเอมแก่เต็มที่ฉันจะสอยลงมาแกะเมล็ดตากแห้ง แล้วก็เพาะเพื่อขยายพันธ์ต่อไป