วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บันทึกเกษตรกรมือใหม่

วันนี้บันทึกหลังจากลงมือเพาะเมล็ดพันธ์  ฟักข้าวและชำกิ่งพันธ์ เมื่อวันที่  21 พฤศจิกายน 2553 ล่วงเลยไป 15 วันแล้ว รดน้ำเช้าเย็นทุกวัน พร้อม ๆ กับคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ให้เห็นเลย  มีเพียงต้นคะน้า ที่เพาะพร้อมกัน ตอนนี้แตกยอดอ่อนงอกงามน่าดู ต้องรีบทำแปลงใหม่เพื่อขยายต้นกล้า ไม่ให้แน่นเกินไป
สุดสัปดาห์นี้  มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน เป็นโอกาสที่จะได้ถากถางดงหญ้าค้างหลายปี และวัชพืชต่าง ๆ เพื่อทำแปลงผัก ที่ดินตรงนี้ไม่ได้ทำประโยชน์มานานหลายปีก่อน เคยใช้เลี้ยงไก่เนื้อ และเลิกไปช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดจึงประยุกต์โรงเรือนเลี้ยงไก่ เป็นโรงเรือนเพาะเห็ด ก็ใช้ได้ดีทีเดียว ผืนดินตรงนี้ใกล้กับโรงเรือนที่พักคนงาน ครั้งนี้เราลงมือทำเอง ต้องตามเก็บเศษของวัสดุเหลือใช้  ที่คนงานทิ้งเอาไว้ทับทม มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเศษแก้ว ขวดเบียร์ ขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เศษกระจก เศษขวดเสปร์น้ำหอม เศษซองผงซักฟอก ยาสระผม ถุงพลาสติก หลอดไฟ กระเบื้องเก่าแตกหัก กระป๋องสี และอื่น ๆ อีกมากมาย ทับถมกันอยู่ในหญ้าและวัชพืช สร้างความยุงยากในการกำจัดและทำความสะอาดมากทีเดียว ทำไปก็คิดในใจว่า เวลาผ่านไปนานกว่า 10 ปี เศษขยะเหล่านี้ไม่ได้ย่อยสลายเลยแม้แต่น้อย หากเอาเศษขยะเหล่านี้ทั่วโลกมากองรวมกันคงสูงราว ๆ ภูเขาลูกใหญ่ ๆ
แล้วฉันจะกำจัดมันอย่างไรดี  เริ่มแรกลากมากองรวมกันใช้หญ้าแห้งเป็นเชื้อเพลิงแล้วจุดไฟเผา พอไฟลุกได้ไม่นานปรากฏว่า มีเสียงปะทุราวระเบิดกัมปนาท พร้อม ๆ กับเศษขยะ และเศษกระเบื้องแตกกระจายไปไกล กว่า 3 เมตร น่าหวาดเสียว ต้องรีบหลบอันตรายมาก มิหนำซ้ำพอไฟมอดแล้ว ยังไม่สามารถกำจัดเศษวัสดุดังกล่าวได้หมด มันกลับกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้เราเก็บอีกรอบ
ฉันนั่งกุมขมับอีกรอบ คราวนี้จะทำอย่างไรกับมัน ฉันขุดหลุมลึกพอประมาณและกวาดเศษวัสดุลงไปนอนก้นหลุมกลบจนมิดชิด คิดในทางขบขัน “นี่อีก 1,500 ปีข้างหน้า หากลูกหลานนักโบราณคดีของฉัน มาขุดพบคงดีใจมากที่พบร่องรอยบรรพบุรุษ เป็นซากข้าวของเครื่องใช้สมัยเรา พวกเขาคงค่อย ๆ บรรจงเก็บอย่างทะนุทนอมไม่ให้มันบุบสลาย แล้วนำไปเก็บไว้ในพิพิธพันธ์ให้เด็ก ๆ ทัศน์ศึกษาแน่ ๆ ไม่น่าเผาเลยเรา หากพวกเขาขุดพบ จะได้เห็นเศษวัสดุที่สภาพยังดี เผลอ ๆ นำไปใช้งานได้อีกด้วย แต่ไม่ต้องห่วงทั่วประเทศยังมีอีกมากมาย คิดอีกทางหนึ่งเศษวัสดุที่พวกเขาค้นพบนี้ อาจเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยา ให้พวกเขาทำนายสาเหตุการล่มสลายของโลกในยุคเราก็เป็นไปได้

ระหว่างขุดแปลงปลูกผัก ถากหญ้า รดน้ำพรวนดินไปด้วย ผืนดินบริเวณนั้นมีต้นไม้ยืนต้นตาย 3 ต้น และต้นที่ทำให้มันตายอีก 2 ต้น ฉันเอามะกรูดไปปลูกแทนส้มโอ ที่ตายเพราะถูกกาฝากดูดน้ำเลี้ยง เอาเถาพลูกินกับหมากของแม่ไป จิ้มไว้รอบ ๆ โคนต้นไม่อยากให้มันสูญพันธุ์โตขึ้นมันจะได้อาศัยซากส้มโอเพราะ  ต้นน้อยหน่า แห้ง เอาต้นหญ้านางไปปลูกที่โคนต้น หวังว่าจะได้เอาไว้เก็บใบไปต้มหนอไม้กิน ของชอบเชียวละ แถมยังเป็นยาของพี่สาวยามเมื่อมีอาการออกร้อนวูบวาบ  ตามตัวก็ใช้ใบหญ้านางคั้นน้ำกิน 2-3 วันก็หาย  แถมพี่ชาย เป็นเบาหวาน ยังกินเพื่อลดน้ำตาล ในเลือดได้ด้วย มหัศจรรย์มาก พืชชนิดนี้   โคนต้นแห้งของพืชที่เหลือ เอาแก้วมังกร ไปปลูกหวังให้มันเลื้อยขึ้นไปอาศัย
ขณะนั่งพักเหนื่อย ก็วาดแผนที่ ว่าตรงข้างถนนตามแนวสายไฟจะปลูกแก้วมังกร ให้เป็นแถวได้พันธ์มาจากเมืองกาญจน์  เจ้าของเขาคุยหนักหนาว่าหวานเจี๊ยบ  หัวแปลงท้ายแปลงจะปลูกมะเขือของโปรด หาต้นแค มาปลูกสักต้นแต่จะลองเอาเมล็ดแก่มาปลูกก่อน  พริกหอม มีต้นเก่าอยู่แล้ว 2 ต้น ปลูกพริกชี้ฟ้า และพริกหยวกเพิ่ม ปลูกถั่ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น  เมื่อทำแปลงเสร็จแล้ว ต้องรีบทำรั้ว เอาตาข่ายมากั้น ประเดี๋ยวเจ้าตัวร้ายไก่จอมแสบ จะมาคุ้ยเขี่ยเสียหาย รวมทั้งหมาจอมซน จะมาเปิดสนามแข่งมาราธอน เราจะอดกินผักปลอดสารพิษกันพอดี
ส่วนที่ปลูกฟักข้าวนั้น ตั้งใจปลูกต่อจากแปลงผัก และดงรวก ตรงนี้ต้องให้รถไถช่วยพรวนดินให้เพื่อความรวดเร็วและทุ่นแรงงานคน พี่ชายลงมือตัดต้นไผ่ป่าหลังบ้าน เพื่อใช้ต้นทำนั่งร้านให้มันเลื้อยอาศัย ระหว่างต้นจะสลับด้วย มะเขือยาว  พริกชี้ฟ้า  แซมด้วยรักขาวเอาไว้ให้พี่สาวร้อยมาลัย ไปขาย
สวนในฝันหลังบ้านของฉัน  กำลังงอกงามเบ่งบานในใจ แต่จริง ๆ มันจะขึ้นกี่ต้นไม่รู้เหมี่ยนกัน  อิอิ

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ต้นไม้โบราณหลังบ้าน“ฟักข้าว”

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ได้มีโอกาสไปเดินในงานออกร้านขายสินค้า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พบบูธเล็ก ๆ ของ พี่บุญเลี้ยง ตั้งขายน้ำฟักข้าว มีผลฟักข้าวแก่สีส้มสดใสแขวนห้อยต่องแต่ง เออ..แปลกดี ยืนดูนิดหนึ่งเพราะไม่เคยเห็น เจ้าของบูธ เชิญชวนให้ชิมน้ำฟักข้าวฟรี  ยังลังเลอยู่ เขาชี้ชวนให้ดูสรรพคุณต่าง ๆ ที่ติดไว้เป็นความรู้คล้ายนิทรรศการฟักข้าว บรรยายสรรพคุณมากมาย หลายหน้ากระดาษ ฮืม...น่าสนใจไม่น้อย ตัดสินใจลองชิม “อืม..รสชาดดีนี่” จึงซื้อมา 3 ขวด เจ้าของร้านยื่นเอกสารให้ 1 แผ่น ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร  รับมาแล้วก็ยัดใส่ถุง เดินชมงานต่อไป น้ำฟักข้าวหมดไปตอนไหนไม่รู้ จึงกลับมาแวะไปซื้ออีก 3 ขวด นำไปฝากพี่ชายที่บ้าน
พี่ชาย สนไจไม่น้อย เพราะคุ้นเคยกับเจ้าลูกกลม ๆ มีหนามเล็ก ๆ เป็นอย่างดี สมัยเป็นเด็ก ไปช่วยพ่อเลี้ยงวัวแถบอำเภอสวนผึ้ง ต้องไปอยู่ป่าตั้งแคมป์ เป็นเดือน ๆ ก็เก็บฟักข้าวนี่แหละเป็นอาหาร มันชอบขึ้นริมห้วย ชายน้ำ เคยกินแต่ยอดอ่อนต้มจิ้มน้ำพริก หรือ แกงส้มผลอ่อน แต่ผลแก่ไม่เคยกินเลย มันกินได้ด้วยหรือ  อืม....แต่น้ำมันอร่อยดีนะ

หลายวันต่อมา อ่านเอกสารที่พี่บุญเลี้ยง ให้มาก่อนจะนำขยะไปทิ้ง มีข้อความบอกสรรพคุณมากมาย ของฟักข้าว โดยอ้างงานวิจัยของนักวิชาการ ระบุว่า สามารถรักษา โรคมะเร็งหลายชนิด และยังรักษาโรคเอดส์ ได้ด้วย  รู้สึกทึ่งในสรรพคุณที่อ้าง จึงหาขอมูลเพิ่มเติมในกูเกิ้ล พบบทความ ข้อความ ของเวปไซท์มากมาย ให้ข้อมูลตรงกับข้อมูลของ พี่บุญเลี้ยง ข้อมูลบางแหล่งยังให้มากกว่าด้วย เช่น เยื่อหุ้มเมล็ดนำไปหุงข้าวรับประทานแล้วบำรุงสายตา รักษาโรคสายตาฟาง การนำไปทำเครื่องสำอางชะลอความแก่ สร้างภูมิคุ้มกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย
จะเป็นด้วยอยากระลึกถึงอดีตสมัยเก่า หรืออยากลองของใหม่ ก็ไม่แน่ใจ จึงลองกดโทรศัพท์ ไปพูดคุย  ข้อมูลที่ได้จากปลายสาย ระบุว่า ตอนนี้ ฟักข้าวกำลังเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวางด้วยคุณค่าทางอาหาร และสรรพคุณทางยา จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกกันอย่างจริงจัง ตัวเขาเองก็เพิ่งทดลองปลูกยังไม่ครบปี ปรากฏว่า เก็บผลผลิตส่งตลาดได้แล้วหลายงวด โดยสวนอยู่ที่บ้านพุบอน  ตำบลโป่งกระทิงล่าง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ไม่ไกลนี่นา
วันหยุดต่อมา  จึงชวนพี่ชายไปเยี่ยมชมดูเทคนิคต่าง ๆ ไปถึงจึงพบว่า บริเวณนั้นเป็นไร่สับปะรด ปลูกติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ กว้างสุดสายตา แปลงฟักข้าว มีเพียง 2 ไร่ พี่บุญเลี้ยง ใช้โคนซอไม้ไผ่  ทำหลักปักระยะห่างพอสมควร ด้านบนใช้ตาข่ายไปล่อนตาห่าง ๆ ขึง พอให้ลูกฟักข้าวห้อยลงมาได้  ระยะห่างการปลูกลองคำนวณดูจากก้าวตัวเอง หนึ่งก้าวเศษ ๆ 1 ไร่ ใช้ต้นกล้า 400 ต้น ด้านล่างปลูกสับปะรดห่าง ๆ ใกล้ ๆ โคนต้น ปลูกต้นกระถิน คู่กับต้นฟักข้าว 1 ต้น โดยหวังว่า เมื่อหลักไม่ไผ่ต้องผุกร่อนไปตามกาลเวลา ต้นกระถินก็จะเติบโต เป็นหลักให้ต้นฟักข้าว พอดี

สวนฟักข้าวของพี่บุญเลี้ยง ออกลูกดกพอสมควร เขาใช้ถุงพลาสติกห่อผล ตั้งแต่เป็นผลอ่อน ป้องกันหนอน และแมลงกัดทำลาย ให้น้ำโดยระบบน้ำหยด ฟักข้าวไม่ต้องการน้ำมาก ฤดูฝนแทบไม่ต้องรดน้ำเลย ส่วนหน้าแล้ง รดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็พอแล้ว ใส่เพียงปุ๋ยคอกบำรุงบ้างเท่านั้น ยาฆ่าแมลง หรือฮอร์โมนบำรุงพืชต่าง ๆ ไม่ต้องใช้ การปลูกโดยต้นกล้าเพาะเมล็ด หลังปลูกประมาณ 6 เดือนเก็บผลผลิตได้ เริ่มปลูกเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตอนนี้เก็บผลผลิตไปแล้ว 2-3 งวด พ่อค้ารับซื้อผลแก่สีส้มสด ที่ราคาประกัน กิโลกรัมละ 15 บาท 1 ผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 7 ขีด
พี่บุญเลี้ยง  บอกว่า  ฟักข้าว มีอายุยืนมากกว่า 10 ปี เป็นไม้เถาอยู่ในป่า ธรรมชาติ ชอบร่ม อยู่ร่วมกับไม้ ชนิดอื่น ๆ โดยอาศัยร่มเงา จะเติบโตดี หากดูแลดี จะออกลูกทั้งปี ยิ่งอายุมากยิ่งออกลูกดก ดูแลง่ายไม่ค่อยมีแมลงมารบกวน
กลับมาพร้อมกับหัวใจพองโต และความฝันอันบรรเจิด รีบตรงไปที่ไร่ริมหนองน้ำของพี่สาวมีต้นฟักข้าวอยู่ต้นหนึ่ง กำลังออกผล ใกล้สุกสีส้มสดทีเดียว เอาละเราจะเพาะพันธุ์ฟักข้าวดู หากประสบผลสำเร็จจะปลูกที่ดินที่รกร้างนี่ละ
21 พฤศจิกายน 2553 หลังจากได้เมล็ดแก่ฟักข้าวมาแล้วก็ไปหากระถางเพาะเก่า ๆ มาได้ 50 ใบเอาเนขุยไผ่ในป่าหลังบ้านที่แม่อนุรักษ์ไว้ เป็นมรดกตกทอดไม่มีใครไถทิ้ง มีไผ่ป่าอยู่หลายกอ ได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องไม่ได้ขาด ว่ากันว่า ดินขุ๋ยไผ่นี่แหละดีที่สุด พืชชอบ จึงใช้ดินตรงนี่แหละใส่กระถางเพาะรดน้ำจนชุ่ม แล้วก็ใส่เมล็ดพันธุ์ฟักข้าวลงไปกระถางละ 1 เมล็ด กลบบาง ๆ ด้วยซากพืชและใบไม้หยาบ ๆ ที่ได้จากโคนไผ่
นอกจากเมล็ดแล้ว ยังเอาเถาแก่ต้นฟักข้าวมาตัดเป็นท่อน ๆ ใส่กระถางเพาะพร้อมกันด้วย ได้อีก 20 ต้น หมั่นรดน้ำเช้าเย็น เกิดมายังไม่เคยชำกิ่งพืชชนิดไหนเลย ...
มาติดตามดูสิว่าสวนฟักข้าวของฉันจะเป็นอย่างไรต่อไป